วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

อนุทิน 2


แฟชั่น "ตบ"


           จากภาพสะท้อนให้เห็นว่า การตบตี ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ แต่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งในการตบตี การทะเลาะวิวาทแต่ละครั้งก็จะมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ อาจจะมีผู้บาดเจ็บฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่าย
           สำหรับกรณีที่มีการตบตี การทะเลาะกันของเด็กนักเรียน จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะเด็กที่ตกอยู่ในวัฏจักรของความรุนแรง และการใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนด้วยกัน มีจำนวนมากสาเหตุในการตบตีทะเลาะวิวาทจะประกอบไปด้วยหลากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น เพียงแค่มองหน้าและเกิดความไม่พอใจกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายมาก่อน เกิดจากการแย่งชิง เกิดจากการอวดให้รุ่นน้องเห็น เกิดจากอารมชั่ววูบ ใจร้อนและขาดสติ เป็นความแค้นส่วนตัวไม่ชอบหน้ากัน เกิดจากค่านิยมที่ผิดๆ เรื่องชู้สาว เกิดจากความรู้สึกเสียศักดิ์ศรี จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่สังคมจะต้องมองให้ลึก เพราะความรุนแรงในรูปของการทำร้ายร่างกาย สภาวะจิตใจที่ก้าวร้าวไม่มีแค่เฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นชายเสียแล้ว ยิ่งโฟกัสไปสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา จะเห็นได้ว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นบ่อยครั้ง โดยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าลูกหลานของตนเองก่อเรื่องตบตีกันจนถึงขั้นเลือดตกยางออกโดยจะทราบข้อมูลดีต่อเมื่อเป็นเรื่องที่ใหญ่โตขึ้นมา
          หากย้อนมองในอดีตของสังคมไทยก็อาจจะเป็นเรื่องปกติสำหรับการใช้กำลังในการแก้ปัญหาของวัยรุ่น แต่เดี๋ยวนี้กับการแก้ปัญหาด้วยการตบตี จิก เตะ เกิดความผิดปกติตรงที่มี ผู้หญิงกระทำมากกว่าผู้ชาย
          ปัญหาสื่อ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ เช่น ตัวอย่างจากหนังละคร ที่มีการจิกหัวตบทำให้กลายมาเป็นความชินชาส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ละครเกาหลี ญี่ปุ่น ที่จะมีฉากในโรงเรียนยกพวกตีกันบ่อยๆ แต่สิ่งที่น่ากลัวในสังคมคือ ความรุนแรงจะถูกยกระดับจนกลายเป็นวัฒนธรรม เป็นเรื่องน่ายกย่อง ฉะนั้น ทางออกที่สำคัญคือ ระยะยาวต้องทำให้รู้จักวิธีการจัดการความรุนแรง
          การแก้ปัญหาระยะยาวทางโรงเรียนต้องสอนทักษะชีวิตให้มากขึ้นเพื่อให้เด็กรู้จักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี  ในอนาคตเด็กเหล่านี้อาจจะกลายเป็นอาชญากร ทางออกคือ ต้องให้เด็กแสดงพลัง ความก้าวร้าวออกมาในทางที่สร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ทางสังคมในสถานศึกษา สังคม เพราะเชื่อว่ายังไม่สายเกินไป เมื่อเวลาเด็กได้สัมผัสสิ่งที่ดี จะส่งเสริมให้พลังที่ร้ายในตัวเด็กเป็นพลังที่ดีได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น